รานียา : ผลิตภัณฑ์ผ้าท้องถิ่นจากสีธรรมชาติ มหาวิทยาลัยราชภัฎยะลา
ศูนย์ส่งเสริมและพัฒนาท้องถิ่น

ประวัติความเป็นมา

พระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 เมื่อวันศุกร์ที่ 18 สิงหาคม พ.ศ. 2560 ให้ความสำคัญต่อการศึกษาที่ต้องมุ่งสร้างพื้นฐานให้แก่ผู้เรียน 4 ด้าน คือ 1) มีทัศนคติที่ถูกต้องต่อบ้านเมือง คือ ต้องมีความรู้ความเข้าใจที่มีต่อชาติบ้านเมือง ยึดมั่นในศาสนา มั่นคงในสถาบันพระมหากษัตริย์ และมีความเอื้ออาทรต่อครอบครัวและชุมชนของตน 2) มีพื้นฐานชีวิตที่มั่นคง มีคุณธรรม คือ ให้รู้จักแยกแยะสิ่งที่ผิด-ที่ถูก สิ่งชั่ว-สิ่งดี เพื่อปฏิบัติแต่สิ่งที่ชอบที่ดีงาม ปฏิเสธสิ่งที่ผิดที่ชั่ว เพื่อสร้างคนดีให้แก่บ้านเมือง 3) มีงานทำ มีอาชีพ คือ ต้องให้เด็กรักงาน สู้งาน ทำงานจนสำเร็จ อบรมให้เรียนรู้การทำงาน ให้สามารถเลี้ยงตัวและเลี้ยงครอบครัวได้ 4) เป็นพลเมืองดี คือ การเป็นพลเมืองดีเป็นหน้าที่ของทุกคน สถานศึกษาและสถานประกอบการต้องส่งเสริมให้ทุกคนมีโอกาสทำหน้าที่พลเมืองดี การเป็นพลเมืองดีหมายถึงการมีน้ำใจ มีความเอื้ออาทร ต้องทำงานอาสาสมัคร งานบำเพ็ญประโยชน์ “เห็นอะไรที่จะทำเพื่อบ้านเมืองได้ก็ต้องทำ”

มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาเป็นสถาบันอุดมศึกษาเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยเฉพาะในเขตจังหวัดชายแดนภาคใต้ของไทย (ยะลา ปัตตานี นราธิวาส) มีพันธกิจสำคัญ ได้แก่ การผลิตบัณฑิตให้มีคุณภาพ ตรงตามความต้องการของตลาดแรงงาน การบริการแก่สังคม การวิจัย การทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม การพัฒนาครูและบุคลากรทางการศึกษา การเสริมสร้างสังคมสมานฉันท์ และการพัฒนาองค์กรคุณภาพ ซึ่งพันธกิจดังกล่าวมุ่งส่งเสริมให้เกิดคุณภาพแก่ นักศึกษา บัณฑิต คณาจารย์ บุคลากร ศิษย์เก่า และประชาชนในพื้นที่ สอดคล้องกับพระบรมราโชบายด้านการศึกษาของสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่ 10 ข้างต้น และยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี (พ.ศ. 2561 – 2580) ที่กล่าวถึงประเด็นการสร้างความเข้าใจ และผสมผสานพลังร่วมกับประชาชน ตลอดจนการเสริมสร้างการยอมรับสังคมพหุวัฒนธรรม รวมไปถึงความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงเทคโนโลยีเนื่องจากความแตกต่างด้านรายได้ ด้านความรู้ ด้านทักษะ

ดังนั้น มหาวิทยาลัยราชภัฏยะลาจึงกำหนดดำเนินโครงการยุทธศาสตร์มหาวิทยาลัยราชภัฏเพื่อการพัฒนาท้องถิ่น โดยมีโครงการย่อยทั้งสิ้น 5 โครงการย่อย ประกอบด้วย 1) โครงการบูรณาการพันธกิจสัมพันธ์เพื่อแก้ปัญหาความยากจนของประชาชนในท้องถิ่น 2) โครงการยกระดับผลิตภัณฑ์ชุมชน OTOP 3) โครงการส่งเสริมความรักความสามัคคี ความมีระเบียบวินัยเข้าใจในสิทธิหน้าที่ของตนเองและผู้อื่น 4) โครงการพัฒนา ทักษะภาษาอังกฤษศตวรรษที่ 21 สำหรับนักศึกษาครูในมหาวิทยาลัยราชภัฏ 5) โครงการยกระดับคุณภาพการเรียนรู้ด้านการอ่านการเขียนและการคิดวิเคราะห์ของนักเรียนในระดับการจัดการศึกษาขั้นพื้นฐาน เพื่อให้เกิดการพัฒนาคุณภาพชีวิตของประชาชนในพื้นที่เกิดความยั่งยืนสืบไป  

รานียา  มาจากการพัฒนาผลิตภัณฑ์ผ้าจังหวัดปัตตานี  ยะลา นราธิวาส  ประกอบด้วยกลุ่มดังนี้ 

1. กลุ่มทอผ้าบ้านไม้แก่น ม.๑ ต.ไม้แก่น อ.ไม้แก่น จ.ปัตตานี

2. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านปาตาตีมอ เทศบาลเมืองตะลุบัน ต.ตะลุบัน อ.สายบุรี จ.ปัตตานี

3. กลุ่มผ้าพิมพ์ชาววัง ม.๑ ต.ยาบี อ.หนองจิก จ.ปัตตานี

4. กลุ่มบือแนบาติก ม.๔ ต.บุดี อ.เมือง จ.ยะลา

5. กลุ่มผ้าบาติกมัดย้อมบ้านตาพะเยา ม.๑๑ ต.แม่หวาด อ.ธารโต จ.ยะลา

6. กลุ่มสุดสยามบาติก ม.๑๑ ต.ตาเนาะแมเราะ อ.เบตง จ.ยะลา

7. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านกาหลง  ม.๑ ต.กาหลง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

8. ศูนย์ศิลปาชีพบ้านสายบน ม.๓ ต.กาหลง อ.ศรีสาคร จ.นราธิวาส

9. กลุ่มทอผ้าบ้านเชิงเขา ม.๔ ต.ปาลุกาสาเมาะ อ.บาเจาะ จ.นราธิวาส

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อร่วมกันสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ชุมชน (ผ้าทอ) โดยใช้กระบวนการย้อมสีธรรมชาติจากวัสดุธรรมชาติในท้องถิ่น
  2. เพื่อร่วมกันพัฒนาผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีรูปแบบ ลวดลาย และสีสันที่เป็นเอกลักษณ์และอัตลักษณ์ประจำกลุ่ม
  3. เพื่อส่งเสริมช่องทางการตลาดและสร้างมูลค่าเพิ่มให้กับผลิตภัณฑ์ชุมชน
  4. เพื่อยกระดับและต่อยอดผลิตภัณฑ์ชุมชนในระดับที่สูงขึ้น มีมาตรฐานคุณภาพ และมีความโดดเด่น อันจะส่งผลให้กลุ่มผลิตภัณฑ์ชุมชนมีรายได้เพิ่มขึ้น และมีคุณภาพชีวิตที่ดี